หลวงพ่อเต๋ คงสุวณโณ (วัดสามง่าม) ถ้ากล่าวถึงจังหวัดนครปฐมแล้ว เราคงนับถือเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง รวมถึงวัตรปฏิบัติที่น่ากราบไหว้กันได้ไม่หมด ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว และอีกนับไม่ถ้วน

ยังมีพระเกจิอาจารย์กลางเก่ากลางใหม่ที่เมื่อกล่าวถึง ทุกคนต้องร้องอ๋อ หลวงพ่อเต๋ คงทอง ก็เป็นหนึ่งในนั้น หลวงพ่อเต๋ ท่านเป็นพระที่มีความน่าเลื่อมใสศรัทธา และน่าจะกล่าวถึงอัตถะประวัติของท่านให้ได้รู้แจ้งกัน หลวงพ่อเต๋ ท่านเป็นชาวอำเภอสามง่ามโดยกำเนิด ท่านเกิดวันจันทร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๓๔ บิดาชื่อ นายจันทร์ มารดาชื่อนางบู่ นามสกุล สามง่ามน้อย ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ในบรรดาเครือญาติทั้งหมด ๗ คน

หลวงพ่อเต๋ มีลุงคนหนึ่งชื่อ แดง บวชอยู่วัดกาหลง เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง วันหนึ่งท่านมาเยื่อมญาติที่บ้านสามง่าม ได้พบหลวงพ่อเต๋ ซึ่งขณะนั้นอายุได้เพียง ๗ ขวบคงเห็นว่าหน้าตามีแวว ขากลับจึงชวนไปอยู่ด้วยที่วัดกาหลง นับเป็นการจากบ้านเป็นครั้งแรกของหลวงพ่อ เพื่อมาเรียนหนังสือ เรียนธรรม เรียนมนต์ ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี หลวงลุงท่านให้บวชเป็นสามเณรที่สำนักสงฆ์สามง่าม เป็นสำนักสงฆ์ที่หลวงลุงแดงร่วมใจกันกับชาวบ้านคิดจะพัฒนาขึ้นมาเป็นวัด ซึ่งขณะนั้นยังมิได้สร้างขึ้นมาเป็นวัดอย่างทุกวันนี้ จนกระทั่งปีพ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านอายุได้ ๒๐ ปี จึงเข้ารับการอุปสมบท ณ วัดสามง่าม โดยมีหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เป็นอุปัชฌย์ และพระสมุห์เทศ วัดทุ่งผักกูด และเจ้าอธิการจอม วัดลำเหย เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า “คงสุวณโณ” และเมื่อหลวงลุงแดงท่านได้มรณะภาพ หลวงพ่อเต๋ ท่านก็ได้เล่าเรียนวิชากับหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก และยังได้ออกธุดงค์รุกขมูลไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นเวลา ๑๗ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๕๕ – ๒๔๘๒ นอกจากจะออกธุดงค์รุกขมูลเพื่อฝึกกรรมฐานแล้ว ท่านยังได้ไปร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อกอน วัดตะกั่ว กับฆาราวาสชาวเขมรเคยเป็นอดีตแม่ทัพเขมร ภายหลังหลวงพ่อเต๋ ท่านได้กลับมาทำนุบำรุงวัดสามง่าม ตามที่หลวงลุงแดงฝากไว้ ซึ่งหลวงพ่อท่านก็ทำจนวัดสามง่ามเจริญรุ่งเรีองมาจนถึงทุกวันนี้
ทางด้านวัตถุมงคลที่หลวงพ่อเต๋ ได้ทำแจกแก่ลูกศิษย์ลูกหาก็มีมากมาย ทั้งเหรียญต่างๆ พระเนื้อดิน เครื่องรางของขลัง แต่ที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องมหาอุตม์แล้วคงไม่หนี พันตะกรุด ๓ ห่วง ๒ ห่วงของท่าน เพราะลูกศิษย์ที่นำไปบูชาติดตั้งกล่าวเป็นเสียงเดียวกันเยี่ยม และวัตถุมงคลที่จะลืมไม่ได้อีกอย่างนึงของหลวงพ่อ คือ กุมารทอง และนางกวัก

กุมารทองและนางกวักของหลวงพ่อเต๋ ตามประวัติไม่แน่ชัดกว่าหลวงพ่อท่านได้ร่ำเรียนมาจากไหน บางท่านกล่าวว่าได้ไปร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อแช่ม บางท่านก็ว่าได้ไปร่ำเรียนมาตอนที่ท่านเดินธุดงค์ แต่จากการประติดประต่อจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อเต้า วัดเกาะวังไทร ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อแช่ม และยังเป็นศิษย์รุ่นน้องของหลวงพ่อเต้ ได้บอกกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องการเรียนตุ๊กตานั้น หลวงพ่อเต๋ท่านได้ ร่ำเรียนมาจากตำราของครูบาอาจารย์ที่วัดกุฎิเดียว จังหวัดนครปฐม ซึ่งตำราเล่มนั้นยังตกทอดสู่หลวงพ่อแย้ม แห่งวัดสามง่าม
หลวงพ่อเต๋ คงทอง ได้ถึงกาลมรณะภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๔ นับเป็นการสูญเสียพระดีแห่งเมืองนครปฐมอีกหนึ่งรูป แต่ยังดีที่หลวงพ่อเต๋ คงทอง ท่านยังมีผู้สืบทอดวิชาการทำกุมารทอง และนางกวัก ไว้อีกหนึ่งนั่นก็คือ หลวงพ่อแย้ม แห่งวัดสามง่าม ซึ่งปัจจุบันท่านก็มีอายุมากแล้ว แต่กุมารทองและนางกวัก รุ่นต่างๆที่ท่านได้สร้างไว้ ท่านยังคงทำตามที่ได้ร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อเต๋ คงทอง